ลักษณะทั่วไปของพรรณพฤกษชาติสกุลพริกไทย
(genus
Piper)
โปรดดูรูปและคำศัพท์ด้านบนประกอบเพื่อความเข้าใจ
ส่วนใหญ่เป็นไม้เถาเลื้อยขึ้นตามต้นไม้อื่น
ตามโขดหิน หรืออาจเลื้อยไปตามผิวดิน บางชนิดเป็นไม้พุ่ม พบน้อยมากที่เป็นพืชล้มลุก
มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ลำต้นหรือเถาเป็นข้อปล้อง ตรงข้อมักโป่งนูนออกชัดเจน
ถ้าเป็นไม้เถามักพบแตกรากตามข้อ
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับ
แผ่นใบมักมีต่อมใสหรือต่อมมีสีขนาดเล็ก ในหนึ่งต้นใบมีขนาดและลักษณะหลากหลาย
ใบบนลำต้นทั้งที่เลื้อยตามผิวดินหรือเลื้อยขึ้นที่สูงมักมีรูปทรงคล้ายๆ
กันในชนิดเดียวกัน
ในหลายชนิดพบว่าใบบนลำต้นที่เลื้อยตามผิวดินมีลักษณะคล้ายกันมาก
มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ใบบนลำต้นและใบบนกิ่งมีลักษณะแตกต่างกันชัดเจนและแตกต่างจากชนิดอื่นๆ
จนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการระบุชนิดได้
ใบบนกิ่งมีลักษณะต่างจากใบบนลำต้นและแตกต่างกันในแต่ละชนิด
ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด
พบน้อยที่เป็นช่อเชิงลดประกอบแบบซี่ร่ม เกิดที่ข้อตรงข้ามกับใบ ดอกแยกเพศ
อยู่ร่วมต้นกันโดยอยู่บนช่อดอกเดียวกัน อยู่คนละช่อดอก หรือพบทั้งสองลักษณะนี้
หรือดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่แยกต้นกัน
ดอกมีขนาดเล็ก
ไม่มีกลีบเลี้ยง ไม่มีกลีบดอก
มีเฉพาะเกสรเพศผู้หรือเกสรเพศเมียและใบประดับขนาดเล็ก ใบประดับรูปกลมหรือรูปรี
เชื่อมติดกับแกนช่อดอกหรือมีก้านชูให้ใบประดับยื่นออกมาจากแกนช่อดอก
เกสรเพศผู้ 2-6 อัน เกสรเพศเมียมีรังไข่ฝังอยู่ในแกนช่อดอกหรือมีก้าน
ยอดเกสรเพศเมีย 2-6 อัน
ผลแบบผลสด
รูปกลมหรือรูปรี
ติดกับแกนหรือมีก้าน สีเขียวหรือเขียวอมเหลือง
เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้มหรือแดง ส่วนใหญ่ออกดอกและติดผลเป็นช่วงๆ
ตลอดปี ขึ้นกับความสมบูรณ์ของต้นและสภาพแวดล้อม ปัญหาที่สำคัญในการศึกษาพืชสกุลพริกไทย
ก็คือ การตรวจสอบและระบุชนิดตัวอย่างพืชที่สำรวจพบ
เนื่องจากพืชกลุ่มนี้มีลักษณะสัณฐานที่ซับซ้อนและหลากหลายในแต่ละชนิด เช่น
บางชนิดดอกเพศผู้กับดอกเพศเมียอยู่แยกต้นกัน
บางชนิดดอกเพศผู้กับดอกเพศเมียอยู่ร่วมต้นกัน
ซึ่งดอกทั้งสองเพศอาจอยู่บนช่อดอกเดียวกันหรือต่างช่อดอกกัน
ยิ่งไปกว่านั้นคือดอกไม่มีกลีบเลี้ยงและไม่มีกลีบดอก
มีเฉพาะเกสรเพศผู้หรือเพศเมียและใบประดับ กอปรกับดอกมีขนาดเล็กมาก
ดังนั้นการตรวจสอบและระบุชนิดจึงต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ [1]
ความสำคัญ
เป็นพืชกลุ่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจยิ่ง
เนื่องจากหลายชนิดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดี
ได้แก่ พริกไทย พลู ช้าพลู ดีปลี และชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในป่า
พืชสกุลพริกไทยที่เกิดตามป่าส่วนใหญ่ชาวบ้านมักเรียกว่า สะค้าน
และมีชื่อต่อท้ายต่างๆ เช่น สะค้านดูก สะค้านเนื้อ สะค้านแดง
และสะค้านหนู
สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
อาทิ
-
ลำต้นของสะค้านแดงใช้เป็นสมุนไพรนำมาเข้าเครื่องยาร่วมกับสมุนไพรอื่นช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดดี
แก้อาการวิงเวียนและบำรุงกำลัง
-
ลำต้นของสะค้านเนื้อก็เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ชาวบ้านทางภาคเหนือนิยมรับประทานกันแพร่หลาย
-
มีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญและสามารถพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมได้อย่างดี
ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย ซึ่งได้จาก พลู, สารซาโฟรล
(safrole) จาก P.
hispidinervium ใช้เป็นสารให้กลิ่นหรือรส
และสารไพเพอโรนอลบิวท็อกไซด์ (piperonal butoxide) ใช้เป็นสารประกอบที่สำคัญของยาฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์ (pyretroid) และเป็นสารแต่งกลิ่นของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านหลายชนิด เช่น
น้ำยาขัดพื้น สบู่ ผงซักฟอก
พืชสกุลพริกไทยหลายชนิดน่าจะเป็นแหล่งของสารที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรม
ดังนั้นการสำรวจและศึกษาด้านสัณฐานวิทยาของพืชสกุลพริกไทย
จึงเป็นองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญอันจะเป็นประโยชน์ในการนำพรรณพฤกษชาติในสกุลนี้มาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไปในอนาคต [1]
การสำรวจและการกระจายพันธุ์
พืชสกุลพริกไทยส่วนใหญ่แล้วมีแหล่งที่สำรวจพบอยู่ในเขตร้อนชื้น
จากการสำรวจความหลากหลายในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันซึ่งรวบรวมไว้ใน
หนังสือพืชสกุลพริกไทยในประเทศไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พบทั้งสิ้น 43 ชนิด [1]
แต่ในรายงานที่ตีพิมพ์ระดับนานาชาตินั้นมีเพียง 40 ชนิด [2]
ชนิดที่เพิ่มมาในหนังสือเล่มนี้ได้แก่
P. brevicaule, P. crocatum และ P. umbellatum ซึ่งผู้ประเมินงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์
(reviewers) ให้ตัดออกโดยให้เหตุผลว่า:
- P. brevicaule นั้นเป็นชนิดเดียวกันกับ
P. sarmentosum ข้อเท็จจริงนี้ผู้เขียนจะได้ตรวจสอบด้วยวิธีการระดับโมเลกุลต่อไป
- P. crocatum และ P.
umbellatum ให้เหตุผลว่าเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ
ซึ่ง
P. crocatum เป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศจริง
แต่ยังคงไว้ในหนังสือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเนื่องจากจะพบพืชชนิดนี้ได้ที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
(อสพ.) และตลาดพันธุ์ไม้
สำหรับ
P.
umbellatum
คณะผู้วิจัยได้สำรวจพบในป่าธรรมชาติของไทยจริงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในหนังสือ [1]
|