การจ้างเหมารถรับจ้าง (รถตู้)
ข้อควรสังเกต การจ้างเหมารถรับจ้าง(รถตู้) เอกสารประกอบ

ข้อสังเกต
1) สำเนาใบขับขี่พนักงานขับรถ ประเภทขับขี่รถสาธารณะ
2) สำเนาคู่มือทะเบียนรถ เป็นรถสาธารณะ รับจ้างไม่ประจำทาง

ก่อนทำสัญญา
          1. การเลือกบริษัทรถ ต้องเลือกบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ควรเลือกบริษัทรถที่เป็นรถส่วนบุคคล ผู้ประกอบการรายเดี่ยว เพราะหากเป็นนิติบุคคลจะได้มีการควบคุมจากสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่จำทาง(สสท.) เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็จะมีผู้รับผิดชอบชดเชยเยียวยาความเสียหายแน่นอน สามารถไล่เบี้ยได้ดีกว่าผู้ประกอบการที่เป็นตัวบุคคลซึ่งอาจจะไม่มีทรัพย์สิน เงินทุนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายชดเชยให้กับผู้ประสบภัยทุกราย
          2. รายละเอียดในการทำสัญญาต้องมีความชัดเจน ประกอบไปด้วย
                   - ต้องระบุแผนที่เส้นทางการเดินทาง จากต้นทาง-ปลายทาง ที่แน่นอน
                   - ต้องระบุหมายเลขทะเบียนรถคันที่จะให้นำมาให้บริการในสัญญาด้วย
                   - ต้องระบุชื่อของพนักงานขับรถ ในกรณีที่ต้องเดินทางในระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร โดยจะต้องมีพนักงานสับเปลี่ยนกัน 2 คน หรือหากมีพนักงานขับรถเพียงคนเดียวก็ต้องมีการระบุถึงจุดพัก หรือระยะเวลาการจอดพักรถไม่น้อยกว่า 30 นาทีทุก 4 ชั่วโมง
                   - พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ให้ขับรถประเภทรถสาธารณะ จากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
                   - ต้องแนบใบตรวจสภาพรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบกกับสัญญาว่าจ้างด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ระบุไม่ควรเกิน 2 เดือน ภายหลังจากการตรวจสภาพ
                   - ต้องแนบเอกสาร กรมธรรม์ทั้งภาคบังคับ(พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535)  กรมธรรม์ภาคสมัครใจ ของรถคันที่ทำการว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างจะต้องตรวจสอบว่าถูกต้อง ตรงกับเลขทะเบียนรถหรือไม่
          3. สภาพของรถโดยสาร  ผู้ว่าจ้างต้องไปตรวจสอบสภาพรถด้วยตนเองว่ามีความเหมาะสม ปลอดภัยในการเดินทางหรือไม่ โดยที่ควรใช้งานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
                   - ถ้าต้องเดินทางไกล ในเส้นทางที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเหว คดเคี้ยว ลาดเอียงไม่ใช่เส้นทางพื้นราบ ควรเลือกใช้รถโดยสารชั้นเดียวเท่านั้น
                   -  ต้องมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และสามารถใช้ได้จริง หยิบใช้สะดวก
                   -  ต้องเป็นเบาะที่นั่งยึดโยงกับพื้นรถ ติดกับที่ ไม่เป็นแบบสไลด์ หรือสามารถถอดเข้าออกเพื่อเพิ่มปริมาณเบาะที่นั่งจนน๊อตหลวม
                   -  ต้องมีอุปกรณ์นิรภัยติดตั้งบนรถ เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง รวมทั้งมีทางออกฉุกเฉิน เป็นต้น

ก่อนเดินทาง 
          ต้องตรวจสอบว่าผู้รับจ้างปฏิบัติตรงกับที่ทำสัญญาหรือไม่ หากพบว่ามีสิ่งหนึ่งประการใดไม่เป็นไปตามข้อตกลง เช่นไม่นำรถยนต์คันที่ตกลงในสัญญามาให้บริการ ผู้ว่าจ้างสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ละสามารถเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ด้วย

ระหว่างเดินทาง
          หากพบว่ามีการขับรถหวาดเสียว ขับเร็ว ขาดความระมัดระวัง หรือรู้สึกถึงความผิดปกติอื่นใดในตัวรถ ให้ทำการเตือนกับพนักงานขับรถ  หากไม่เชื่อฟังหรือไม่แก้ไข ผู้โดยสารควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือรีบแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 หรือสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง  1193 หรือกับบริษัทรถที่ว่าจ้าง โดยทันที

หลังเกิดเหตุ
          สำหรับผู้เสียหายสามารถเรียกร้องการชดเชย เยียวยากับ พนักงานขับรถ เจ้าของบริษัทรถโดยสารคันที่เกิดเหตุ และบริษัทประกันภัย ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพในกรณีที่เสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน ที่นำติดตัวไปในการเดินทาง  ขาดโอกาสหรือสูญเสียโอกาสในการทำงาน ขาดไร้ผู้อุปการะ  และที่คนส่วนใหญ่อาจจะนึกไม่ถึงคือการที่ผู้โดยสารเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง หรือตลอดจนความเสียหายทางด้านจิตใจ
โดยทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ หรือช่วยดำเนินการด้านคดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

สาระสำคัญของการประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร
          การประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสารตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522   มีสาระสำคัญ ดังนี้
          การประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร (การนำรถโดยสารไม่ประจำทางไปรับจ้างขนส่ง  ผู้โดยสาร) จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจากนายทะเบียน    ใบอนุญาตฯ มีอายุ 5 ปี โดยมีค่าธรรมเนียม 1,500 บาท  รถที่นำมาใช้งาน ต้องจดทะเบียนในนามผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการเท่านั้น ห้ามนำรถคนอื่น เข้าร่วมกิจการ   สีรถต้องไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับรถโดยสารประจำทางของบริษัท ขนส่ง จำกัด เช่น   สีรถที่ใช้ในการรับส่งนักเรียน ต้องใช้สีเหลืองคาดดำ    สีรถในกิจการหนึ่ง ๆ จะต้องมีสีรถเหมือนกันทุกคัน เว้นแต่ การขนส่งลักษณะ 3 อาจมีสีแตกต่างได้ตามความจำเป็น ของผู้ว่าจ้างโดยต้องได้รับอนุญาตก่อน  จำนวนผู้ขับรถ   ให้ผู้ขับรถ 1 คน ขับรถติดต่อกันไม่เกินสี่ชั่วโมง และเมื่อได้พักติดต่อกันเป็นเวลา     ไม่น้อยกว่า 30 นาที ก็ให้ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมงติดต่อกัน   โดยผู้ประกอบการขนส่ง ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด หรือพันธบัตร หรือเป็นสัญญาประกันภัย และกรมธรรม์ประกันภัยต่อนายทะเบียน เพื่อประกันและชดใช้ความเสียหายเบื้องต้นอันเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย ของบุคคลภายนอกตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด   ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตามกฎกระทรวง  ต้องมีสถานที่เก็บรถที่สามารถเก็บรถได้จริง เหมาะสมและเพียงพอกับจำนวนรถที่ใช้ในการประกอบ การขนส่ง

การขออนุญาตประกอบการขนส่งใหม่                          
          หลักการ: ผู้ขอต้องมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้รถโดยสารไม่ประจำทาง โดยมีหลักฐานที่เป็นหนังสือ หรือเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร     
          คำขอที่ใช้ยื่น: ใช้แบบคำขออนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง (แบบ ขส.บ.11 ก.)
          สถานที่ยื่นคำขอ: ให้ผู้ขอยื่นคำขอตามภูมิลำเนาของตนเอง โดยบุคคลธรรมดาให้ถือตามสำเนาทะเบียนบ้าน ส่วนนิติบุคคล ให้ยื่นตามที่ตั้งของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว ดังนี้      
          ในต่างจังหวัด ให้ยื่นต่อสำนักงานขนส่งจังหวัด          
           ข้อควรทราบ   
                การขออนุญาต สามารถยื่นขอได้ทั้งกรณีที่มีตัวรถอยู่แล้ว หรือยังไม่มีตัวรถ ที่เรียกว่า "ขออนุมัติในหลักการ"      
                ผู้ประกอบการขนส่งฯ ต้องนำรถเข้าดำเนินการทางทะเบียนและภาษี ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตฯ       
                ผู้ประกอบการขนส่งฯ สามารถยื่นคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาก่อนครบกำหนดได้โดยแสดงเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาตามข้อ 5.2 ได้อีกไม่เกิน 60 วัน      
                ท้องที่ที่ทำการขนส่ง ผู้ขออนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องระบุท้องที่ที่ทำการขนส่ง ซึ่งเป็นท้องที่ที่ผู้ขอจำเป็นต้องใช้รถเพื่อทำการประกอบการขนส่ง   
          เอกสารประกอบคำขออนุญาตใหม่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) มาตรา 24 ดังนี้ 
            เอกสารประจำตัวผู้ขอ
                   ก. บุคคลธรรมดา
                             1. ภาพถ่ายบัตรประชาชน
                             2. ภาพถ่ายทะเบียนบ้าน
                   ข. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
                             1. หนังสือรับรองแสดงการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด พร้อมวัตถุประสงค์ของห้าง (ออกให้ไม่เกิน 90 วัน)
                             2. ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หรือ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
                             3. ภาพถ่ายทะเบียนบ้าน หรือใบสำคัญแสดงถิ่นที่อยู่ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
                             4. ตัวอย่างรอยตราประทับ 2 ตรา (ถ้ามี)
                             5. ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ
          ค. บริษัทจำกัด
                             1. หนังสือรับรองแสดงการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดพร้อมวัตถุประสงค์ของบริษัท (ออกให้ไม่เกิน 90 วัน)
                             2.ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพถ่ายใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของกรรมการของบริษัททุกคน
                             3. ภาพถ่ายทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญแสดงถิ่นที่อยู่ ของกรรมการของบริษัททุกคน
                             4. บัญชีรายชื่อ สัญชาติ และจำนวนหุ้นที่ถือของผู้ถือหุ้นทุกคน (บอจ. 5)
                             5. ภาพถ่ายหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับฉบับตีพิมพ์
                             6. ตัวอย่างรอยตราประทับ 2 ตรา (ถ้ามี)
                             7. ตัวอย่างเครื่องหมายประจำรถ

เอกสารเกี่ยวกับสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ
           1.สัญญาให้สิทธิการใช้ที่ดิน หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่อายุสัญญาไม่ต่ำกว่า 5 ปี (ถ้ามีเจ้าของหลายคนต้องลงนามให้ครบทุกคน)
          2.รูปถ่ายสถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ 2 รูป (ขนาด 4 X 6 นิ้ว ให้เห็น บริเวณที่ใช้เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ และเห็นทางเข้า-ออก ชัดเจน)
          3.ภาพถ่ายโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 ก. ฯลฯ
          4.หลักฐานเจ้าของที่ดิน (เจ้าของที่ดินหลายคนต้องมีหลักฐานครบทุกคน)/สัญญาใช้สิทธิในสถานที่เก็บรถ (บัตร/ทะเบียนบ้านเจ้าของที่ดิน)
          - กรณีบุคคลธรรมดา ได้แก่
                    1) ภาพถ่ายบัตรประชาชน 2) ภาพถ่ายทะเบียนบ้าน
               - กรณีนิติบุคคล ได้แก่
                    1) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
                    2) ภาพถ่ายบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
                    5.แผนที่สถานที่เก็บ ซ่อม และบำรุงรักษารถ โดยสังเขป ( สถานที่เก็บ กรณีรถบัสขนาดใหญ่ใช้อัตรา 70 ตรม./คัน รถขนาดเล็ก 35 ตรม./คัน)

เอกสารเกี่ยวกับสถานประกอบการ: ประกอบด้วยรูปถ่ายสำนักงาน 2 รูป ได้แก่
          1. รูปถ่ายด้านนอก ให้ปรากฏเลขที่ของบ้านหรือสำนักงาน จำนวน 1 รูป
          2. รูปถ่ายสำนักงาน/สถานที่เก็บรถ/ตัวรถ ทั้ง 4 ด้าน ขนาด 7.60 x 12.70 เซนติเมตร อย่างละ 2 รูป
(แบบ ขส.บ.67)
                   - ถ่ายให้เห็นแตกต่างกันในแต่ละด้าน
                   - ต้องเห็นป้ายชื่อสำนักงาน
                    - โดยคิดพื้นที่ 70 ต่อตารางเมตร (รถใหญ่) 30 ต่อตารางเมตร (รถเล็ก)
                   - รูปถ่ายภายในสำนักงาน

เอกสารเกี่ยวกับตัวรถ
           1.สำเนาทะเบียนรถ (ถ่ายหน้าที่มีชื่อเจ้าของรถคนปัจจุบัน, หน้ารายการเสียภาษีประจำปีและหน้าบันทึกเจ้าหน้าที่)
          2.กรณีรถใหม่ ได้แก่ ภาพถ่ายหนังสือรับรองส่งบัญชีรับและจำหน่าย หรือสัญญาซื้อขายรถ หรือภาพถ่ายใบแจ้งจำหน่าย
          3.สีรถ ได้แก่ ภาพถ่ายรถที่ทำสีแล้ว หรือภาพวาดตัวรถพร้อมระบายสี (รถที่ใช้รับส่งนักเรียนต้องใช้สีเหลืองคาดดำ)
          4.เครื่องหมายประจำรถ อย่างน้อยต้องมีชื่อผู้ขอเป็นภาษาไทยระบุอยู่ด้วย

หลักฐานแสดงปริมาณงานขนส่ง (ต้องมีเพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนรถที่ขอใช้)
          เช่น  กรณีรับจ้างเหมาทั่วไป ได้แก่ สัญญาหรือหนังสือว่าจ้างใช้รถ ใบงาน ฯลฯ โดยใช้ย้อนหลัง 3 เดือน นับจากวันยื่นคำขอ เฉลี่ยต้องมีการใช้รถไม่น้อยกว่า 20 วัน/เดือน

 


HOME